ประวัติคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก

          คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระราชชนก ได้วิวัฒนาการมา ยาวนานกว่า ๙๐ ปี ที่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์ในสังกัดวชิระพยาบาล กรมสาธารณสุข ในปีพ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งเป็นโรงเรียนผดุงครรภ์แห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ และก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และ
อนามัย สังกัดกรมการแพทย์ ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2489       

นับจากนั้นมาได้มีการก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อผลิตบุคลากรพยาบาล ตอบสนองความต้องการระบบสุขภาพของประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการของกรมต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขและจัดตั้งกองงานวิทยาลัยพยาบาล โดยการโอนสถาบันการศึกษาที่ผลิตพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลซึ่งเคยสังกัดกองการศึกษา กรมการแพทย์และอนามัย ไปสังกัดกองงานวิทยาลัยพยาบาล และในปีพ.ศ. ๒๕๓๖ มีพระราชกฤษฎีกาให้รวมกองงานวิทยาลัยพยาบาลและกองฝึกอบรม สำนักงานกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานใหม่ชื่อว่า สถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ต่อมาได้รับพระราชทานนาม ว่า “สถาบันพระบรมราชชนก” ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอพระราชทานนามวิทยาลัยพยาบาลในสังกัด  ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานนาม สำหรับวิทยาลัยพยาบาล ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ว่า “วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี” โดยมีชื่อเดิมต่อท้าย ยกเว้นวิทยาลัยพยาบาลที่เคยได้รับชื่อพระราชทานมาก่อน ยังคงชื่อเดิมไว้ มีจำนวน ๓ แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม และวิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แพร่ และอนุมัติจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แพร่ เป็นวิทยาลัยพยาบาลลำดับที่ ๓๐ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

 

 

 

          วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปีพ.ศ ๒๔๘๙ โดยผู้สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์และผดุงครรภ์ชั้นสูง เทียบเท่าปริญญาตรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้เข้าสมทบกับคณะพยาบาลศาสตร์ ในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อปรับหลักสูตรให้เป็นพยาบาลศาสตรบัณฑิต และเข้ารับปริญญาบัตรกับมหาวิทยาลัยที่รับเข้าสมทบ วิทยาลัยพยาบาล ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ได้ผลิตบัณฑิตพยาบาลตอบสนองความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ปีละ ๓,๖๐๐-๔,๐๐๐ คน และมีการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง สถาบันพระบรมราชชนกต้องการความเป็นอิสระในการจัดการศึกษาและบริหารกิจการด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้น เรียกว่า "พระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ๒๕๖๒" ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒

       ทำให้สถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่จัดการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.  ๒๕๖๔  ให้ไว้  ณ วันที่  ๒๗  กันยายน  พ.ศ.า ๒๕๖๔ ซึ่งแบ่งเป็นส่วนราชการเป็น ๔ ส่วนได้แก่ สำนักงานอธิการบดี คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ และสำนักวิชาการ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการแบ่งส่วนราชการตามพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยในประกาศฯ ข้อ ๓ ข ให้คณะพยาบาลศาสตร์ มี สำนักงานคณบดี และวิทยาลัยพยาบาล จำนวน ๓๐ แห่ง รวมทั้งประกาศสถาบันพระบรมราชชนก เรื่องการแบ่งส่วนราชการเป็นงานหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่างาน ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๕ โดยในประกาศฯ ข้อ ๕ ให้แบ่งส่วนราชการของคณะพยาบาลศาสตร์ ดังต่อไปนี้

๕.๑ สำนักงานคณบดี ประกอบด้วย ๕ งาน ได้แก่

      (๑) งานบริหารและยุทธศาสตร์
(๒) งานวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา
(๓) งานวิจัย นวัตกรรม บริการวิชาการและบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข
(๔) งานบัณฑิตศึกษา และหลักสูตรนานาชาติ
(๕) งานกิจการนักศึกษาและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
๕.๒ วิทยาลัย ประกอบด้วย ๔ งาน ได้แก่
(๑) งานบริหารทั่วไปและยุทธศาสตร์
(๒) งานวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา
(๓) งานวิจัย นวัตกรรม บริการวิชาการและบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข
(๔) งานกิจการนักศึกษาและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ปัจจุบันคณะพยาบาลศาสตร์มีที่ตั้งสำนักงานคณบดี
อยู่ที่เลขที่ ๖๐ อาคาร ๗ ชั้น ๑ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และมีคณะกรรมการบริหารจัดการคณะพยาบาลศาสตร์ ตามคำสั่งสถาบันพระบรมราชชนกที่ ๑๐๓๐/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
ของคณะพยาบาลศาสตร์ สำหรับวิทยาลัย ๓๐ แห่งในสังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ มีที่ตั้งกระจายอยู่ทุกภูมิภาค
ทั่วประเทศ ได้แก่ เขตภาคเหนือจำนวน ๗ แห่ง ภาคกลางและปริมณฑล จำนวน ๑๒  แห่ง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ๖ แห่ง และภาคใต้ จำนวน ๕ แห่ง

Scroll to Top